ชั้นเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนทอสี จัดให้มีนักเรียน 26 คน ต่อคุณครู 2 คน
สำหรับพี่ๆ ชั้นประถมตารางเรียงทั้งหมดจะเป็นการนำสาระวิชาที่กระทรวงศึกษากำหนดมาประยุกต์ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีวิต โดยคาบเรียนทั้งหมดจะแบ่งเป็น 5 ช่วงหลัก เรียนกันคาบละ 50 นาที เริ่มต้นวันด้วยการทำกิจกรรม ทอจิตเจริญสติ หรือกิจกรรมโฮมรูมในช่วงเช้า แลกเปลี่ยนเรื่องราวประจำวัน และสวดมนต์นั่งสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเรียน ก่อนจะเข้าสู่ช่วง ทอสมองคล่องคิด เรียนวิชาการต่างๆ ได้แก่ วิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และพละศึกษา
ทอปัญญาโลกน่ามหัศจรรย์ ชั่วโมงที่เด็กๆ จะได้ออกไปเรียน ไปเล่น ผ่านบทเรียนในวิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ซึ่งผนวกวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การงานอาชีพ เทคโนโลยี และศิลปะเข้าด้วยกัน เพื่อให้เด็กๆ เห็นภาพของชีวิตที่มีเรื่องราวร้อยเรียงกัน ด้วยศาสตร์ ศิลป์ และการประยุกต์ต่างๆ นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้เรียน รายวิชาอื่นๆ นั่นคือ ดนตรี สุขศึกษา พละ ว่ายน้ำ และกิจกรรมชมรมด้วย
ช่วงเย็นก่อนกลับบ้าน ในบางวันเด็กๆ จะได้ทำกิจกรรม ทอจิตคิดประมวล เพื่อสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน ทบทวนตนเองในสิ่งที่ทำแล้วส่งผลต่อผู้อื่น ขอบคุณ ขอโทษเพื่อนๆ ร่วมกับคุณครูประจำชั้น รวมทั้งวางแผนกิจกรรมก่อนจะมาเจอกันใหม่ในวันถัดไป
วิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวระดับประถมศึกษา เป็นวิชาที่บูรณาการ 4 สาระวิชาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การงานอาชีพเทคโนโลยี และศิลปะเข้าด้วยกัน ที่โรงเรียนทอสีได้นำเนื้อหาของแต่ละวิชามา ออกแบบใหม่ให้เข้ากับพัฒนาการและความสนใจของเด็กแต่ละช่วงวัย แล้วรวมเข้ากับสิ่งที่โรงเรียนอยากปลูกฝัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรม ความตระหนักรู้เรื่องสังคมโลก สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว แล้วเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้กลับมาที่กายและใจของตัวเอง
ในหนึ่งปีเด็กๆ จะได้เรียนเนื้อหาตามธีมซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้ง 2 เทอม เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ สำหรับน้องเล็กระดับประถมต้น ก่อนจะค่อยๆ ขยายขอบเขตให้กว้างขวางขึ้นเมื่อเด็กๆ กลายเป็นพี่โตของโรงเรียน
การเรียนวิชาบูรณาการ ช่วยให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ เกิดความยืดหยุ่นในการเรียนรู้มากขึ้น เมื่อออกจากรั้วทอสีไป เด็กๆ ยังสามารถนำทักษะที่ได้จากการเรียนไปต่อยอดเพื่อใช้ในระดับการเรียนที่สูงขึ้นและในชีวิตประจำวันได้ แตกต่างจากการเรียนรายวิชาแยกตามหลักสูตรทั่วไป ที่เนื้อหาของแต่ละวิชาจะแยกกันอย่างชัดเจน พวกเขาจึงขาดทักษะการประยุกต์เนื้อหาในห้องเรียนเข้าสู่การใช้ชีวิตจริง
บทเรียนที่ 1 ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน: กายและจิตใจ
ชั้น ป.1 คือช่วงปฐมวัยปีสุดท้าย ถือเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาจะต้องเริ่มเรียนรู้เรื่องการดูแลตัวเองใหม่อีกครั้ง หลังจากมีผู้คนคอยช่วยเหลือพวกเขาทุกย่างก้าวมาตลอดสมัยยังเป็นน้องอนุบาล
พวกเขาควรทำความเข้าใจเรื่องกายและใจของตนเอง เพราะนอกจากร่างกายแล้ว ยังมีจิตใจที่อยู่เหนือกาย การที่พวกเขาได้รู้ที่มาที่ไปของร่างกายตน จะทำให้พวกเขาได้ย้อนกลับไประลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ท้องแม่ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังแรกของพวกเขา ดังนั้นเด็กๆ จึงควรตอบแทนคุณของผู้ให้กำเนิดด้วยความเคารพ และฝึกดูแลตนเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อต่อไปจะได้เติบโตไปอย่างเหมาะสมตามวัย เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจและปัญญา
ในเทอมนี้เด็กๆ จะได้เรียนเรื่องที่มาของร่างกาย ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนลืมตาดูโลก ทำให้พวกเขาเห็นว่าระบบการทำงานของร่างกายและอวัยวะต่างๆ มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พวกเขาจึงต้องดูแลร่างกายของตนเองให้ดี ทั้งเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิต ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับผัสสะทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อพวกเขาจะได้ใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้พวกเขายังต้องฝึกดูแล จัดการตนเองในชีวิตประจำวัน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเรียนที่ต้องพึ่งตนเองมากขึ้นด้วย
บทเรียนที่ 2 หนี้ศักดิ์สิทธิ์: ครอบครัวและโรงเรียน
เมื่อเด็กๆ เริ่มเป็นเด็กวัยเรียนเต็มตัว ความสำคัญของผู้ปกครองจะเริ่มลดลง เพราะฉะนั้นก่อนที่เด็กๆ จะก้าวเขาสู่วัยเรียนเต็มตัว โรงเรียนทอสีเลยอยากให้เด็กๆ ทุกคนย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับมีบุญคุณอย่างครอบครัวและคุณครูอีกครั้ง เพื่อยืดสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็ก บ้าน และโรงเรียนให้ยืดยาวขึ้น
เทอมนี้ เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน กฎกติกาหน้าที่ของการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเล็กๆ สองระดับอย่างครอบครัว และโรงเรียน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักปฏิบัติตามกฎกติกาง่ายๆ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพลเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมใหญ่ในอนาคต
บทเรียนที่ 3 กัลยาณมิตร: พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลก เด็กๆ จึงต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นกัลยาณมิตร เพราะในวัยนี้เด็กๆ จะเริ่มเข้าสังคม เริ่มคุยกับมมากขึ้น แต่ก็อาจมีการแกล้งกัน หรือบางทีก็มีการใช้วาจาทำร้ายจิตใจเพื่อนโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย
ในเทอมนี้เด็กๆ จะได้เรียนเรื่องชีวิตสัมพันธ์จากการสังเกตความเหมือนและต่างของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายทไม่ว่าจะเป็นคน พืช สัตว์ และเรียนรู้ที่จะเป็น ‘มนุษย์ที่ใจสูง’ หรือผู้ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึกฝน พัฒนาความดีงามในตน มีความเกื้อกูลต่อสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่อยู่ร่วมโลกใบเดียวกัน นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ฝึกได้ แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศวิทยา
บทเรียนที่ 4 ระลึกคุณบ้านเกิด: ชุมชนบริเวณบ้าน โรงเรียน และกรุงเทพมหานคร
เมื่อเด็กๆ เป็นสมาชิกของชุมชนแล้ว พวกเขาควรเกิดจิตสำนึก ระลึกถึงคุณค่าในท้องถิ่นของตนเอง รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนอยู่ และสนใจใฝ่รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมใหญ่ ในฐานะผู้รู้จักหาสาเหตุ และรู้จักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม พร้อมเป็นผู้พัฒนาบ้านหลังใหญ่หรือชุมชนของเขาให้ดีขึ้น
เทอมนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะสมาชิกชุมชนคนหนึ่ง เริ่มจากชุมชนใกล้ตัวอย่างบ้าน และโรงเรียน ด้วยการออกไปตามหาว่าในชุมชนของตัวเองยังคงมีวัฒนธรรมที่ดีงามอะไรหลงเหลืออยู่ และอะไรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปบ้าง นอกจากนี้พวกเขายังต้องเรียนรู้เรื่องกติกา กฎหมายพื้นฐานของชาวกรุงเทพฯ รูปแบบการปกครองและการแบ่งเขตเบื้องต้น รวมไปถึงการฝึกตนให้เป็นกัลยาณมิตรที่ดี เพื่อพวกเขาจะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
บทเรียนที่ 5 เมล็ดพันธุ์แห่งความดี: ข้าว ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและกายภาพ
ชั้น ป.3 คือช่วงเวลาที่เด็กๆ เข้าสู่วัยเรียนอย่างเต็มตัว พวกเขาจะเริ่มหันไปสนใจสิ่งไกลตัวมากขึ้น เริ่มอยากตามเทรนด์ ตามกระแสโลก จนหลงลืมสิ่งใกล้ตัวและรากเหง้าของตัวเองไป บทเรียนในปีนี้จึงเป็นการชวนให้เด็กๆ หันกลับมาย้อนมองความเป็นไทยอีกครั้ง ด้วยกิจกรรมการทำนาปลูกข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบ
ข้าวถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมายาวนาน แต่กว่าเมล็ดพันธุ์เล็กๆ นี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นอาหารอันมีคุณค่าได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ข้าวจึงทำให้เด็กๆ ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับตัวเขา ที่ต่างก็เชื่อมโยงกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร
ในบทเรียนนี้ เด็กๆ จะได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับข้าว ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์จากการลงมือปลูกข้าวกินเองตามปฏิทินชาวนา ในระหว่างนั้นพวกเขาจะได้รู้จักศึกษา วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในกระบวนการปลูก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการบริโภคอันเกินพอดีของมนุษย์ ดังนั้น นอกจากการเรียนรู้ขั้นตอนการทำนาแล้ว เด็กๆ จึงได้เรียนรู้ที่จะบริโภคแต่พอดี และระลึกถึงความสำคัญของอาหารที่พวกเขากินด้วย
บทเรียนที่ 6 คืนสู่แผ่นดิน: ประเทศไทย
ในฐานะที่เกิดบนแผ่นดินไทย เด็กๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงคุณค่าของแผ่นดิน รวมถึงสาเหตุที่มาของคำพูดที่กล่าวว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากความเสียสละของบรรพบุรุษผู้ร่วมกันสร้างผืนแผ่นดินนี้ให้สงบสุข อุดมสมบูรณ์ และมีวัฒนธรรมดีงามสืบทอดมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาย เด็กๆ ทุกคนจึงควรทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี ช่วยอนุรักษ์สิ่งดีๆ เหล่านี้เอาไว้ และช่วยพัฒนาชาติให้เป็น ‘แผ่นดินธรรม’ สืบต่อไป
เด็กๆ จะได้เรียนรู้ความเป็นไทยผ่าน ‘ข้าว’ อาหารหลักที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวไทยทั่วประเทศ เมื่อเห็นความหลากหลายของเมืองไทยแล้ว พวกเขาจะได้เรียนรู้เรื่องลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในแต่ละภาค ไม่ว่าจะเป็นภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน พืชพรรณ และสัตว์มีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่หลากหลายเฉพาะถิ่น
บทเรียนที่ 7 พลังน้ำใจ: น้ำและความสัมพันธ์ของธาตุทั้ง 4
เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจการเป็นหนึ่งเดียวกันของธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในธรรมชาติและในตัวมนุษย์ พวกเขาจึงได้เรียนรู้เรื่องน้ำทั้ง 3 โลก นั่นคือ น้ำนอกกาย น้ำในกาย แล้วเชื่อมโยงกลับมาพัฒนาน้ำในใจให้ชุ่มฉ่ำ ไม่แห้งเหือดไป เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มสนใจแต่เรื่องตนเอง คิดถึงปัญหาของตนเองเป็นหลัก อยู่กับตนเองมากจนอาจหลงลืมผู้คนที่อยู่รอบข้างไป
ในห้องเรียนเด็กๆ จะได้เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 โดยมี ‘น้ำ’ เป็นตัวเอกของเรื่อง เพราะน้ำเป็นธาตุที่จับต้องได้ และมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด พวกเขาจะได้รู้จักน้ำในกายหรือน้ำด้านกายภาพ ก่อนจะขยายไปสู่การเรียนรู้น้ำนอกกาย หรือแหล่งน้ำต่างๆ หลังจากนั้นจึงย้อนกลับมาดูน้ำในใจของตน ในที่สุดเด็กๆ จะเห็นความเชื่อมโยงของคนและน้ำ ทำให้พวกเขามีจิตสำนึกดีงาม อยากดูแลรักษาแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นๆ จนเข้าใจประโยคที่ว่า ‘น้ำคือชีวิต’ อย่างแท้จริง
บทเรียนที่ 8 ตามรอยกรรม ย้ำดูตน: การกำเนิดเมืองและประวัติศาสตร์กับวิถีชีวิตริมน้ำของชาวไทย
ในเทอมต่อมา เด็กๆ จะได้เชื่อมโยงเรื่องน้ำไปสู่การดำเนินชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเขาจะได้เห็นบทบาทสำคัญของน้ำต่อวิถีชีวิตในอาณาจักรต่างๆ ตามประวัติศาสตร์ชาวไทย
เด็กๆ จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านการเมือง การปกครอง รวมถึงได้ทำความรู้จักและเรียนรู้คุณธรรมของวีรชนคนกล้า ที่มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมและดำรงไว้ซึ่งแผ่นดินไทย เพื่อนำหลักในการปฏิบัติตนเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้เด็กๆ ทุกคนจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของครอบครัวตนเองอย่างละเอียด เพื่อตามรอยกรรมแล้วนำสิ่งที่ได้มาเป็นหลักตั้งตนในการพัฒนาตนเองต่อไป
บทเรียนที่ 9 ต้นเหตุแห่งตน: กำเนิดโลก-กำเนิดชีวิต ‘บิ๊กแบงแห่งตัวตน’
เด็กๆ ชั้นป.5 จะมีพัฒนาการค่อนข้างคล้ายกับเด็กป.4 คือให้ความสำคัญกับตัวเองมาก แต่จะเริ่มเพ็งโทษคนอื่น โดยลืมย้อนมองกลับมาตัวเราเองก็อาจมีข้อผืดพลาดได้เช่นกัน ในเทอมนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องความจริงตามธรรมชาติ ย้อนกลับมาดูต้นเหตุแห่งตน หรือเหตุปัจจัยของการเกิดสรรพสิ่งทั้งหลายที่ทุกอย่างล้วนแน่นอน เมื่อตั้งอยู่ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง และดับสลายไป บทเรียนรู้จะทำให้พวกเขาเกิดปัญญาในการดับทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และลดความยึดมั่นในการเป็นตัวเป็นตนของตัวเองได้
บทเรียนบูรณาการของเด็กๆ จะพูดถึงกระบวนการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของโลก ตั้งแต่โลกยังไม่มีสิ่งมีชีวิต จนถึงเวลาที่โลกมีปัจจัยพร้อมให้เกิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ จนเกิดการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามหลักทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกนี้มีสิ่งมีชีวิตหลากหลาย มีธาตุทั้ง 4 และมีปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ
นอกจากนี้ เด็กๆ ยังจะได้ย้อนกลับไปรู้จักต้นกำเนิดของชีวิตทั้งหลาย การพยายามปรับตัว การอยู่อาศัย การสืบพันธุ์ และการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมตามวัฏจักรชีวิต ซึ่งมีความไม่แน่นอน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
บทเรียนที่ 10 ตนเป็นต้นเหตุ: สัมพันธภาพของสรรพสิ่ง
เมื่อรู้จักเรื่องโลกในมุมต่างๆ แล้ว เด็กๆ จะต้องเห็นภาพใหญ่ระหว่างความสัมพันธ์ของธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับกายและชีวภาพรอบตัวพวกเขา ในเทอมนี้เด็กๆ จึงได้ทำความรู้จักกับ ‘ระบบนิเวศ’ ขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่จักรวาล สสาร พลังงาน ดินฟ้าอากาศ สรรพชีวิต และพฤติกรรมของมนุษย์ ทุกๆ คนในชั้นเรียนจะได้ร่วมกันค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า ‘มนุษย์นั้นหรือคือนายเหนือธรรมชาติ’
เด็กๆ จะได้เรียนรู้ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ไปพร้อมกับการ ‘ไขความลับของปฐพี’ หรือการเรียนรู้โลกใต้พิภพ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งพลังงานทั้งหมด แล้ววิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อให้เด็กๆ เกิดจิตสำนึก รู้จักใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ ให้มากขึ้น จนสามารถตอบคำถามได้ว่ามนุษย์เป็นนายเหนือธรรมชาติจริงหรือไม่
บทเรียนที่ 11 โลกรอดได้เพราะกตัญญู: โลก-ดวงดาว-จักรวาล-ตัวเรา
จากการเรียนรู้สิ่งที่ใกล้ตนเองที่สุด คือร่างกาย สิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตรอบตัว จนค่อยๆ เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกมาตลอดการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาแล้ว ในปีสุดท้ายของการเรียนรู้ เด็กๆ จะได้ถอยออกไปมองเห็นภาพรวมของธรรมชาติและสรรพสิ่ง ตั้งแต่โลกไปจนถึงจักรวาล พวกเขาจะได้เรียนรู้การกำเนิดจักรวาลและเอกภพ พลังงานพื้นฐานทั้ง 4 ในจักรวาล อาณาจักรของดาว ระบบสุริยะ แล้วร้อยเรียงเรื่องราวกลับมาสู่จิตใจของตนเอง
เด็กๆ จะได้เข้าใจบทเรียนที่สำคัญของการไม่นำตนไปเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง เพราะเราช่างเป็นส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ และเมื่อพวกเขาเห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลแล้ว พวกเขาย่อมเกิดเมตตาต่อคนรอบข้าง ธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลาย เพราะเมื่อเราดับสิ้นไป ก็เหลือเพียงแค่คุณงามความดีเท่านั้นที่จะช่วยพัฒนาโลกนี้ให้ดีขึ้น
บทเรียนที่ 12 แกะสลักชีวิต: การสร้างประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน
เทอมสุดท้ายของระดับชั้นประถมศึกษา เด็กๆ จะได้ใช้เวลาในการตั้งสติทบทวน และวางแผนพัฒนาตนเองตามหลักเพียร 4 อริยสัจ 4 และอิทธิบาท 4 ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีวิต รวมถึงฝึกเชื่อมโยงนำความรู้ที่สั่งสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการเป็นผู้นำทำกิจกรรมจิตอาสาในโครงการของโรงเรียน และออกไปอาสาช่วยงานที่เป็นกุศลต่างๆ ในชุมชนจริง นี่จะทำให้พวกเขาได้ขัดเกลาพัฒนาจิตใจของตนเอง ถือเป็นการฝึกทำหน้าที่ของมนุษย์ที่แท้จริง ผู้สามารถสร้างประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้ เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวออกจากรั้วทอสีไปสู่ชีวิตนักเรียนมัธยมต่อไป
แม้เด็กๆ จะเรียนวิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวแล้ว พวกเขาก็ยังต้องเรียนวิชาการอื่นๆ เสริมตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการด้วย โดยวิชาเหล่านี้ประกอบไปด้วย วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และพละศึกษา แยกเรียนเป็นคาบตามที่กระทรวงฯ กำหนด และเนื้อหาบางส่วนสามารถนำไปปรับใช้ในวิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวด้วย
วิชาภาษาไทย เด็กๆ ทุกชั้นจะต้องเรียนการอ่าน หลักภาษา การเขียนร้อยแก้ว ร้อยกรอง แต่คุณครูจะสอดแทรกกิจกรรมในห้องเรียน ให้เด็กๆ นำความรู้ที่ได้ มาลองประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวันด้วย เช่น การเขียนจดหมายคุยกับเพื่อน การเขียนจดหมายทางการ โดยเนื้อหาในห้องเรียนทั้งหมดจะมีความเข้มข้นและลงลึกขึ้น เมื่อพวกเขาเติบโตไปอยู่ในชั้นที่สูงขึ้น
วิชาคณิตศาสตร์ ประกอบไปด้วยการเรียนตัวเลขและพีชคณิต การวัดและเรขาคณิต สถิติและความน่าจะเป็นที่มีความยากง่าย ซับซ้อนตามวัย โดยเด็กๆ สามารถเอาทักษะที่ได้มาประยุกต์ในการทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น การจัดพานไหว้ครู หรือการพับกระดาษในวิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
วิชาภาษาอังกฤษ จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วนคือ EFL (English as a Foreign Language) หรือการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสนทนา แกรมม่า และการเรียนโฟนิกส์ (Phonics) หรือการเรียนเพื่อช่วยเรื่องการอ่านและสะกดคำ
ส่วนใน วิชาพละ เด็กๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 2 จะได้เรียนโยคะ ซึ่งเป็นศาสตร์สำคัญช่วยเพิ่มความคล่องตัว ปรับระบบประสาท และระบบหายใจให้สมดุล เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่พวกเขาจะได้เล่นกีฬาชนิดอื่นๆ และทำให้เด็กๆ เห็นว่าการออกกำลังกาย เป็นหนึ่งในฐานสำคัญของการใช้ชีวิต เมื่อโตขึ้นพวกเขาจะต้องทำความเข้าใจเรื่องกฎกติกาของกีฬาชนิดต่างๆ ผ่านการเล่นกีฬาชนิดนั้น เช่น วอลเลย์บอล ฟุตบอล แชร์บอล และในระหว่างเกมกีฬาเด็กๆ ยังได้ฝึกการปฏิบัติตามกติกาของเกมเหล่านั้นให้ได้ ได้เรียนรู้การเคลียร์ใจกันเมื่อเกิดความไม่พอใจระหว่างเล่น รวมไปถึงเรื่องของน้ำใจนักกีฬาด้วย
กิจกรรมทัศนศึกษาระดับประถมศึกษาจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยยึดจากบทเรียนที่เรียนในวิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เช่น เด็กๆ ชั้น ป.2 ที่เรียนเรื่องคน พืช สัตว์ จะได้ลงไปทำกิจกรรมในฟาร์มเพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์และมนุษย์ ส่วนเด็กๆ ชั้นป.3 ที่เรียนเรื่องข้าวจะได้ลองทำนาจริงๆ หรือเด็กๆ ชั้น ป.4 ที่เรียนเรื่องป่าต้นน้ำจะได้ไปค้างคืนสั้นๆ ที่ป่าต้นน้ำเพื่อศึกษาระบบนิเวศในป่า ซึ่งการออกไปทัศนศึกษาในสถานที่จริงจะทำให้พวกเขา มีประสบการณ์ต่อโลกภายนอก ได้เจอกับคุณครูนอกห้องเรียนที่อยู่รอบตัวพวกเขา ได้พบความหลากหลายของสิ่งแวดล้อม ได้เข้าใจเรื่องราวในบทเรียนมากขึ้นผ่านการลองดู ลองทำ และยังถือเป็นการสร้างประสบการณ์ให้เด็กๆ ที่มีวิถีชีวิตส่วนใหญ่ในเมืองได้ออกไปเรียนรู้วิธีการใช้ในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
นอกจากโรงเรียนทอสีจะมีการสอนภาษาอังกฤษ EFL (English as a Foreign Language) หรือการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสนทนา และการเรียนโฟนิกส์ (Phonics) เพื่อการอ่านและสะกดคำแล้ว เด็กๆ ชั้นประถมศึกษายังได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มอีกหนึ่งหลักสูตร คือ PJ Method หรือการเรียนที่ฝึกทักษะการอ่าน การเขียนภาษาอังกฤษในรูปแบบเฉพาะ เพื่อดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นวิชาที่จัดให้เรียนเป็นกลุ่มขนาดเล็ก 10-12 คนต่อคุณครู 1 คน
PJ Method เป็นหลักสูตรการอ่านและเขียนสำหรับสอนเด็กๆ ชั้นมัธยม ที่พัฒนาโดยครูปานใจ ขำวิไล อดีตอาจารย์โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อคุณครูปานใจเกษียณ ท่านได้มอบองค์ความรู้ทั้งหมดนี้แก่ครูอ้อน เพื่อให้นำมาประยุกต์ใช้กับเด็กๆ ชั้นประถมที่โรงเรียนทอสี
โดยครูปานใจเชื่อว่าเด็กไทยก็เก่งภาษาอังกฤษได้ ถ้ามีวิธีการสอนและการจัดการที่เหมาะสมในโรงเรียน การเรียนภาษาอังกฤษผ่านการฝึกฝนทักษะต่างๆ ในรูปแบบของ PJ Method จะช่วย
วางโครงสร้างการใช้ภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้พวกเขาสามารถนำสิ่งที่ได้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
จากการทดลองปฏิบัติมาระยะหนึ่ง พบว่า เด็กๆ มีพัฒนาการด้านการเขียนและการอ่านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะพวกเขาจะมีคลังข้อมูลสำหรับสร้างประโยคในรูปแบบต่างๆ และสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์ได้ในอนาคต
ในสาระการเรียนรู้อื่นๆ นอกเหนือจากหมวดวิชาการ โรงเรียนทอสีก็มีการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัย และทำให้เด็กๆ ได้สนุกไปพร้อมกับการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สำหรับ หมวดวิชาศิลปะ หรือวิชาสร้างสุนทรียะ เป็นวิชาที่โรงเรียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งดนตรี ทัศนศิลป์ และนาฏศิลป์
ในวิชาดนตรีระดับประถม ได้จัดให้ครูผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นครูพิเศษ โดยนำแนวทางของ ‘ออร์ฟ ชูลแวร์ค’ (Orff Schulwerk) มาพัฒนาต่อจากประสบการณ์ของอาจารย์ศักดิ์ชาย เล็กวงศ์เดิม เพื่อสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็กไทยโดยเฉพาะ
ทัศนศิลป์ในมุมของโรงเรียนทอสี คือ การถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก จินตนาการออกมาเป็นผลงานศิลปะ ไม่จำกัดแค่ในคาบเรียนวิชาศิลปะเท่านั้น แต่วิชาศิลปะกลับอยู่ในพื้นที่ของทุกวิชา อย่างไรก็ตามพี่ๆ ชั้นประถมปลาย จะได้เพิ่มเติมเรื่องทฤษฎีและหลักการศิลปะที่จำเป็นจากครูผู้เชี่ยวชาญด้วย
นาฏศิลป์ อีกหนึ่งวิชาในหมวดศิลปะ ที่ฝึกฝนการใช้ร่างกายและการสื่อสาร ด้วยภาษาท่าทางในรูปแบบสากลและประเพณีนิยม (ไทย) โดยกิจกรรมนี้จะถูกผสานเข้ากับวิชาเด็กดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวอย่างกลมกลืน
นอกจากนี้ในทุกสัปดาห์ เด็กๆ ระดับประถมศึกษาจะได้เข้าร่วม กิจกรรมชมรม ซึ่งเป็นคาบที่เกิดขึ้นจากเด็กๆ และคุณครูที่มีความถนัดหรือความสนใจมาจับกลุ่มรวมกัน เช่น ชมรมปั้นทราย ชมรมทำอาหาร ชมรมดูหนัง และชมรมกีฬา