พ่อแม่และผู้ปกครอง

ห้องเรียนพ่อแม่ เพื่อความเข้าใจในวิถีทอสี

พ่อแม่ถือเป็นครูคนแรกของเด็กๆ โรงเรียนทอสีจึงเชื่อว่าพ่อแม่ คือกลุ่มคนที่เข้าใจตัวตนของเด็กๆ มากที่สุด เพราะเด็กแต่ละคนล้วนมีตัวตน หรือพื้นอารมณ์ที่แตกต่างติดตัวเขามาตั้งแต่เกิด ส่งผลให้เด็กบางคนอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี และมีความถนัดแตกต่างกันไป หากพ่อแม่สามารถบ่มเพาะและช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปได้อย่างเหมาะสม เด็กๆ ก็จะกลายเป็นเด็กที่สมบูรณ์ทางด้านจิตใจมากขึ้น

แต่หากสิ่งที่พ่อแม่และโรงเรียนสอนมีความขัดแย้ง ไม่สอดคล้องกัน อาจส่งผลให้เด็กๆ กลายเป็น ‘เด็กสองภพ’ หรือเด็กที่สับสนในการใช้ชีวิตได้ ครูอ้อนจึงมีแนวคิดเปิด ห้องเรียนผู้ปกครอง สอนหลักวิชาชีวิตหรือวิถีของทอสี เพื่อให้บ้านและโรงเรียนมีความเข้าใจตรงกัน และทำให้พ่อแม่เป็น ‘พ่อแม่ผู้แสดงโลก’ อย่างแท้จริง

‘พ่อแม่คือผู้แสดงโลกให้ลูกเห็น’ เป็นพุทธพจน์ ที่มีความหมายลึกซึ้ง กล่าวคือ นอกจากโลกแห่งสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่พ่อแม่ต้องชี้ให้ลูกเข้าใจเป็นภาษา หรือชื่อเรียกตามหลักต่างๆ แล้ว ยังมีโลกอีกใบหนึ่ง คือสิ่งแวดล้อมที่เด็กๆ สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น เมื่อเราอยู่ในสถานที่อากาศร้อน เรารู้สึกชอบไม่ชอบอย่างไร และแสดงท่าทางออกมาแบบไหน สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดโลกที่ลูกอยู่

โลกภายในจิตใจของคนเรามักขึ้นกับประสบการณ์ส่วนตัวในอดีต ความจำ ความอยาก ความรู้สึก และความคิด แต่โลกนี้กลับเป็นโลกที่ใหม่มากสำหรับเด็กๆ พวกเขาจึงมองพ่อแม่เป็นต้นแบบตลอดเวลา เพราะพวกเขาถือว่าพ่อแม่เป็นตัวอย่างในทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเด็กๆ อยากได้ความรักหรือการปกป้องจากพ่อแม่ เขาย่อมอยากแสดงท่าทางในแบบที่พ่อแม่พอใจ และพร้อมอยู่ในโลกที่พ่อแม่กำหนด

ยิ่งเด็กเล็กที่ไม่เคยเห็นโลกมากพอ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะแยกแยะได้ระหว่างสิ่งที่เราทำเป็นตัวอย่าง กับสิ่งที่เราอดทำไม่ได้จากนิสัยส่วนตัว ดังนั้นเด็กๆ จึงไม่มีทางรู้เลยว่ามาตรฐานของสิ่งที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน อะไรเป็นเรื่องผิด หรืออะไรเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่พ่อแม่ไม่อยากให้พวกเขาทำตาม

ดังนั้น หากพ่อแม่สามารถแสดงโลกที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีของโรงเรียนทอสีได้มากเท่าไหร่ นอกจากเด็กๆ จะไม่เกิดความสับสนเมื่อใช้ชีวิตนอกรั้วโรงเรียนแล้ว ประสบการณ์ดีๆ ที่พ่อแม่สะสมไว้ให้นี้ ยังถือเป็นการให้ทานแก่เด็กๆ ซึ่งช่วยให้พวกเขามีความสุขได้ตลอดชีวิตด้วย

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ในทุกๆ การเปิดภาคเรียนที่มีผู้ปกครองใหม่ โรงเรียนทอสีจะเปิดห้องเรียนพ่อแม่ผู้แสดงโลก เพื่อให้ผู้ปกครองใหม่ทุกคนได้พาครอบครัวมาเรียนรู้นโยบายและหลักการของโรงเรียน นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมเรื่องการอบรมลูกให้เหมาะสมตามวัย และสอนให้ผู้ปกครองรู้จักตนเองมากขึ้น เพราะพ่อแม่ของเด็กๆ ระดับชั้นอนุบาลส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ที่อายุน้อย อาจมีเรื่องติดค้างใจในการเลี้ยงดูลูกมาก่อน ดังนั้นการทำให้พ่อแม่ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จะทำให้พ่อแม่ได้เห็นแนวทางอื่นๆ ที่พอจะปรับใช้กับการเลี้ยงลูกให้ดีได้ โดยที่ตัวเองยังคงมีความสุขเช่นกัน

ชวนพ่อแม่มาเป็นกัลยาณมิตรของลูก

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของผู้ปกครอง คือการเป็นกัลยาณมิตรของลูก หรือเป็นผู้คอยบอกกล่าวตักเตือนในช่วงเวลาที่เหมาะสม นี่ถือเป็นกฎการอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดสังคมที่ดีงามในโรงเรียน โดยการเป็นกัลยาณมิตรที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยลักษณะ 7 ประการ คือ

ปิโย เป็นผู้น่ารัก ทำให้คนรอบตัวอยากเข้ามาสนิทสนมและกล้าเข้ามาปรึกษา

ครุ เป็นผู้น่าเคารพ ทำให้ผู้ที่อยู่ด้วยรู้สึกอุ่นใจ

ภาวนีโย เป็นผู้มีความรู้อย่างแท้จริง และหมั่นฝึกอบรม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ

วตฺตา จ รู้จักชี้แจ้งด้วยความจริงใจ มีเจตนาดี และกล้าตักเตือนเมื่อผู้อื่นทำผิดพลาดด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม

วจนกฺขโม พร้อมรับฟังคำตักเตือนด้วยความอดทน ไม่ฉุนเฉียว

คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา อธิบายเรื่องยากและซับซ้อนให้ผู้อื่นเข้าใจได้

โน จฏฐาเน นิโยชเย ไม่แนะนำเรื่องเหลวไหล และพาผู้อื่นไปในทางเสื่อมเสีย

หลักการเป็นกัลยาณมิตรที่ดีนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องนำไปปรับใช้ ไม่ใช่แค่กับลูกๆ เท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงเพื่อนผู้ปกครองด้วยกัน และคุณครูประจำชั้นของลูกด้วย เพื่อให้ลูกๆ เห็นเราเป็นตัวอย่าง แล้วนำสิ่งที่เห็นไปปรับใช้กับเพื่อนๆ และคุณครูในโรงเรียนต่อไป ซึ่งการจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีแบบนี้ได้ เราจึงต้องหมั่นฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ

เรียนรู้การเป็นพ่อแม่ที่สุขง่าย ทุกข์ยาก

โรงเรียนทอสีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ผู้ปกครองเป็นพ่อแม่ที่ ‘สุขง่าย ทุกข์ยาก’ ซึ่งถือเป็นคติธรรมเตือนใจที่พ่อแม่ควรมีในวันที่เรารู้สึกโมโห ใจร้อน และไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนได้

ในช่วงเปิดภาคเรียนแรก โรงเรียนทอสีจะให้ผู้ปกครองทำ ธรรมนูญครอบครัว ร่วมกับเด็กๆ เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยยึดสิ่งที่ครอบครัวให้ความสำคัญเป็นหลัก เช่น ครอบครัวที่ให้คุณค่าเรื่องเวลา อาจมีกฎงดเล่นมือถือในช่วงที่ทุกคนร่วมโต๊ะอาหาร หลังจากนั้นช่วงสิ้นปี พ่อแม่จะต้องกลับมาประเมินตนเองว่าสิ่งที่เราตั้งเป้าร่วมกับลูกๆ เป็นไปอย่างที่คาดหวังไหม หรือทำได้เต็มที่หรือเปล่า

และเพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าถึงคติธรรมการเป็นพ่อแม่ที่สุขง่าย ทุกข์ยากอย่างแท้จริง โรงเรียนทอสีจึงมอบหนังสือธรรมะให้ผู้ปกครองเป็นของขวัญปีใหม่ทุกปี และจัดให้มีการปฏิธรรมที่พ่อแม่แต่ละบ้านจะต้องเข้าร่วมอย่างน้อย 6 ครั้งต่อปี โดยทางโรงเรียนจะแจ้งรอบการปฏิบัติธรรมที่มีทั้งหมด 14 ครั้งในช่วงเปิดเทอม แล้วให้ผู้ปกครองมาลงชื่อร่วมปฏิบัติธรรมหลังจากส่งเด็กๆ เสร็จในช่วงเช้าเป็นเวลา 3 ชั่วโมง

การปฏิบัติธรรมนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองได้เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่โรงเรียนใช้บูรณาการเข้าสู่หลักการสอนมากขึ้น เมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว พ่อแม่ก็จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปคุยและช่วยสอนเด็กๆ ได้อย่างเข้าใจ เพราะเมื่อลูกๆ เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ความศรัทธาที่พวกเขามีต่อพ่อแม่ก็จะเริ่มน้อยลง หากพ่อแม่ไม่เติมเต็มความรู้เอาไว้เสมอ ก็จะไม่สามารถเป็นที่พึ่งของลูกได้

กิจกรรมการปฏิบัติธรรมแต่ละครั้งจะเริ่มจากการ ทำวัตรเช้า เพื่อทำความเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอดแทรกอยู่ในบทสวดมนต์ การได้อ่านบทสวดมนต์และคำแปลของบทต่างๆ จึงทำให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนามากขึ้น หลังจากนั้นจะเป็นการ ฟังเทศน์ จากพระอาจารย์ เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เรื่องครอบครัว การงาน แล้วจึงเป็นช่วง ถาม-ตอบ เพื่อให้ผู้ปกครองที่มีข้อสงสัยได้ถามคำถามกับพระอาจารย์ ในช่วงนี้พ่อแม่ครอบครัวอื่นๆ ก็จะได้ข้อคิดติดตัวกลับไปด้วย

โรงเรียนทอสีเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมจะช่วยลดความเร่งรีบในกิจวัตรของผู้ปกครองที่ต้องทำงานหนักทุกวัน และธรรมะจะเป็นเครื่องมือติดตัวผู้ปกครองไปในยามที่เกิดความทุกข์ เมื่อไม่มีสิ่งใดช่วยเยียวยาจิตใจได้ อย่างน้อยก็ยังมีคติธรรมยึดไว้ในจิตใจเพื่อช่วยเยียวยาตนเอง

แบ่งปันพลังครอบครัวในรั้วทอสี

หนึ่งในบทบาทของผู้ปกครองทอสี คือการร่วมกันช่วยพัฒนาเด็กๆ ไปพร้อมกับโรงเรียน โดยกิจกรรมที่โรงเรียนทอสีจัดเป็นประจำทุกปี มีตั้งแต่ทริปร่วมกิจกรรมกันทั้งครอบครัว โครงการครูอาสา ไปจนถึงการประชุมผู้ปกครองเพื่อร่วมกันพัฒนาเด็กๆ เป็นรายบุคคล

family trip เป็นกิจกรรมทัศนศึกษาทั้งครอบครัว เพื่อให้พ่อแม่ได้ร่วมเรียนรู้ไปกับลูกๆ ตามเนื้อหาวิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวที่เด็กๆ เรียนในเทอมนั้น ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่แต่ละบ้านจะได้มาทำความรู้จักและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจากในเวลาปกติพ่อแม่ของเด็กๆ บางคนอาจไม่มีโอกาสได้มาพบปะเพื่อนผู้ปกครองและคุณครูมากนัก

สำหรับชั้นอนุบาล กิจกรรม family trip จะเป็นกิจกรรมไปเช้าเย็นกลับในสถานที่ใกล้ๆ แต่เมื่อเด็กๆ ขึ้นชั้นประถมจะเริ่มมีการจัดทริปค้างคืน ซึ่งผู้ปกครองทุกคนที่เดินทางมาร่วมทริปกับโรงเรียนจะต้องปฏิบัติตามกฏของโรงเรียน นั่นคือการรักษาศีล 5 ดูแลทรัพยากรรอบตัว โดยการจัดทริปแต่ละครั้งจะมีตัวแทนผู้ปกครองคอยประสานงานกับครูประจำชั้น ทำหน้าที่ออกไปสำรวจสถานที่ทัศนศึกษา ดูที่พัก แล้วนำกลับมาเสนอกับคุณครูและเพื่อนผู้ปกครองคนอื่นๆ

อยากเห็นลูกน้อยค่อยๆ ก้าวไกล เป็นโครงการครูอาสาที่เปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เข้ามาสอนเด็กๆ ตามตารางที่ผู้ปกครองสะดวก โดยแบ่งหน้าที่ของผู้ปกครองออกเป็น 3 หน้าที่คือ ครูคนพิเศษ สอนสิ่งที่ผู้ปกครองถนัดหรือสนใจ และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เด็กๆ กำลังเรียนอยู่ในเทอมนั้น ครูผู้ช่วย เข้ามาสอนกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดได้ในห้องเรียน เช่น เล่านิทาน สอนดนตรี ศิลปะ ทำอาหาร และ ผู้ปกครองอาสา ช่วยทำกิจกรรมในส่วนอื่นๆ ของโรงเรียน เช่น ดูแลห้องสมุด อาสาดูแลเด็กๆ ในบริเวณต่างๆ เช่น จุดรับ-ส่งนักเรียน รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาที่อาจต้องการครูผู้ช่วยเพิ่มเติม

โรงเรียนทอสียังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำสำหรับผู้ปกครองทุกระดับชั้น นั่นคือ การประชุมผู้ปกครอง ซึ่งจัดขึ้น 5 ครั้งต่อปี ในช่วงแรกจะเป็นการประชุมรวมทุกต้นเทอม เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้เนื้อหาที่เด็กๆ จะได้เรียนในแต่ละเทอม และจะมี การประชุมผู้ปกครองรายบุคคล อีกหนึ่งครั้งในช่วงท้ายเทอมที่หนึ่ง โดยคุณครูจะเป็นผู้จัดตารางนัดเวลาผู้ปกครองมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างบ้านและโรงเรียน

ในการประชุมผู้ปกครองรายบุคคล ผู้ปกครองจะได้รับ ใบประเมินเพียร 4 หรือใบสังเกตพฤติกรรมของตนเองและลูกๆ ในช่วงที่อยู่บ้านว่ามีพฤติกรรมไหนที่ไม่ดีและควรลด พฤติกรรมไหนที่ดีแต่ยังไม่มีและควรสร้าง พฤติกรรมไหนที่ทำดีแล้วจึงควรรักษาไว้ และพฤติกรรมไหนควรป้องกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับใบประเมินที่คุณครูสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ระหว่างอยู่ที่โรงเรียน ส่วนนี้จะทำให้ทั้งครูและผู้ปกครองได้เห็นว่าพฤติกรรมของเด็กๆ ที่บ้านและที่โรงเรียนแตกต่างกันอย่างไร มีปัจจัยไหนที่ทำให้เด็กๆ กล้าทำพฤติกรรมนี้ที่บ้านแต่ไม่กล้าทำที่โรงเรียน หรือเด็กๆ อาจแสดงความสามารถในด้านหนึ่งที่โรงเรียนแต่ผู้ปกครองอาจไม่รู้เมื่ออยู่บ้าน เมื่อบ้านและโรงเรียนมีความเข้าใจที่เท่ากันก็จะช่วยพัฒนาเด็กๆ ให้เติบโตไปด้วยกันได้

ส่วนในช่วงท้ายปีการศึกษาที่หนึ่งและสอง จะเป็นกิจกรรมสรุปการเรียนรู้ที่เรียกว่า ‘อนุบาลแรกแย้ม’ และ ‘ประถมเบ่งบาน’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะได้มาดูว่าลูกๆ ของตนเรียนอะไรมาบ้างตลอดเทอมที่ผ่านมา และมีผลงานอะไรที่พวกเขาสกัดออกมาจากบทเรียนนั้นๆ