โรงเรียนทอสี เป็นที่รู้จักในฐานะโรงเรียนพุทธปัญญาที่หยิบเอาหลักธรรมคำสอนตามหลักพุทธศาสนามาปรับใช้กับการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ครูอ้อน-บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสี คุณครูใจดีของเด็กๆ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และเข้าใจหลักการวิถีพุทธ เพื่อนำมาร่างแบบการศึกษา สานสร้างรายวิชา และถักทอรูปแบบการเรียนรู้อยู่หลายปี กว่าจะกลายเป็นโรงเรียนทอสีตามวิถีพุทธปัญญาอย่างที่เป็นในทุกวันนี้
จากการประกอบอาชีพครูอยู่หลายปี ครูอ้อนพบว่าการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ในขณะนั้นเน้นการเรียนจากตำรา และสอนให้ท่องจำจนเด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยตนเอง จังหวะที่ครูอ้อนกำลังมองหาโรงเรียนอนุบาลให้ลูกชายอยู่พอดี เธอจึงตัดสินใจนำประสบการณ์และความสุขที่สั่งสมจากการเป็นครูสอนหนังสือในต่างประเทศ มาก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘ทอสี’ ในพื้นที่บ้านพักของพี่สาวขึ้นในปี พ.ศ. 2534 ผ่านการสนับสนุนจากคุณพ่อดุษฎี และคุณแม่ทอสี สวัสดิ์-ชูโต รวมทั้งครอบครัวของพี่สาว ศรีวรา และพี่เขย คุณสงกรานต์ อิสระ
ในช่วงแรกที่เปิดโรงเรียน ครูอ้อนได้นำหลักการสอนแบบตะวันตกที่เรียกว่า Active Learning มาปรับใช้ ซึ่งเน้นพัฒนา 4 ด้านคือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา จุดเด่นของการเรียนรูปแบบนี้ คือการทำกิจกรรม การใช้สื่อการสอนที่เด็กๆ มีส่วนร่วมได้ และสนุกได้ด้วยการเรียนรู้ผ่านการเล่น มีเป้าหมายเพื่อสร้างเด็กๆ ที่มีความสามารถ มั่นใจ และกล้าแสดงออก เตรียมความ พร้อมสำหรับการศึกษาในระดับชั้นต่อไป ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย เช่น คุณหญิงวนิดา พูนศิริวงศ์ คุณหญิงหม่อมหลวงอนงค์ นิลอุบล อาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา อาจารย์อารี สันหฉวี ครูอนินทิตา โปษะกฤษณะ แห่งโรงเรียนอนุบาลหนูน้อย และหม่อมหลวงผกามาลย์ เกษมศรี และมูลนิธิชมรมไทย-อิสราเอล ทำให้ในช่วงแรก โรงเรียนทอสีเป็นโรงเรียนทางเลือกสำหรับผู้ปกครองที่สนใจการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนอนุบาลทั่วไป
คือคำที่พระพรหมพัชรญาณมุนี (ท่านเจ้าคุณอาจารย์ชยสาโร) กล่าวกับครูอ้อน หลังจากคณะครูของโรงเรียนได้ร่วมศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ฯ บ่อยครั้ง ครูอ้อนเริ่มเข้าใจว่าการศึกษากับการใช้ชีวิตไม่ควรแยกจากกัน จึงเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน จากตารางเรียนแบบเดิมๆ ที่เน้นเตรียมความพร้อมเฉพาะภายนอก ให้มีความรู้ไปสอบหรือเรียนต่อ มาสู่การเรียนที่เตรียมความพร้อมไปถึงภายใน หรือการรู้จักใช้ชีวิตด้วย ยิ่งปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ครูอ้อนยิ่งพบว่าแค่การทำกิจกรรมในห้องเรียน หรือการเรียนหนังสือจากตำราเพื่อนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพอาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์นัก แต่การศึกษาที่แท้จริงต้องพัฒนาศักยภาพในการใช้ชีวิตของผู้เรียนให้ออกมาเต็มที่ที่สุด โดยยึดหลักไตรสิกขา คือการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาไปพร้อมกัน เพื่อให้เด็กๆ รวมไปถึงครูผู้สอนสามารถนำทักษะความรู้ทางวิชาการและวิชาชีวิตมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้างได้ เมื่อเข้าใจแก่นแท้ของการศึกษา ครูอ้อนและคณะครูทอสีจึงค่อยๆ ลงมือพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ด้วยการศึกษาผลงานของครูบาอาจารย์หลายท่านที่เคยอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก พระธรรมเทศนา และงานนิพนธ์ของพระธรรมโกศาจารย์ (หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ) ที่สำคัญคืองานของเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ซึ่งท่านได้อธิบาย ขยายความคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาเป็นหลักและแนวทางการพัฒนามนุษย์ นอกจากนี้ โรงเรียนทอสียังได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ฯ มาช่วยเป็นผู้นำในการอบรมสั่งสอนเด็กๆ และต่อยอดแนวทางการศึกษาที่ทอสีไปสู่การเรียนรู้เพื่อชีวิตอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากที่โรงเรียนทอสีเปิดชั้นเรียนอนุบาลมาได้ 8-9 ปี เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครองให้ขยายการสอนไปสู่ระดับประถมศึกษา ครูอ้อนจึงขอคำปรึกษาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ฯ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการร่างหลักสูตรการศึกษาพุทธปัญญา ที่นำเอาหลักพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน หลังจากนั้นจึงมีการร่วมกันร่างหลักสูตรการสอนระดับประถมศึกษาขึ้น โดยหยิบหลักธรรมทางพุทธศาสนาและวิธีการจัดการศึกษาต่างๆ มาผสานกับแนวทางการเรียนตามแบบกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เด็กๆ ได้พัฒนาทั้งด้านจิตใจ วิชาความรู้ และทักษะในการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กัน ครูอ้อนยังเชื่อด้วยว่าในการใช้ชีวิต ทุกๆ คนล้วนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ และต้องรู้จักนำความรู้เก่าที่มีมาใช้พัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการเป็นนักศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ครูอ้อนพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในโรงเรียนทอสี เมื่อร่างแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้แก่เด็กๆ ได้แล้ว ครูอ้อนจึงต่อยอดแนวคิดนี้ไปสู่การพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาครูด้วยการปฏิบัติธรรม จัดการอบรมและเสวนาต่างๆ รวมถึงพัฒนาผู้ปกครอง เพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้ความเข้าใจตรงกัน ทำให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างบ้านและโรงเรียนต่อไปในอนาคต แม้จะจบการศึกษาจากรั้วทอสีไปแล้ว วิถีแบบพุทธปัญญาที่ติดตัวไปก็ยังสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตได้ในทุกสถานการณ์ โรงเรียนทอสีได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และยังได้ร่วมมือกับโรงเรียนอนุบาลหนูน้อย (สยามสามไตร ในปัจจุบัน) และโรงเรียนรุ่งอรุณ ในการจัดกิจกรรม แลกเปลี่ยนแนวคิด และร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนตามหลักวิถีพุทธอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเครือข่ายระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองที่เห็นความสำคัญของการศึกษาในวิถีพุทธปัญญา พากันมุ่งสู่เป้าหมายของการพัฒนาสังคมที่มี ‘ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน’ ทั้งด้านจิตใจและด้านปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในปี พ.ศ. 2554 โรงเรียนทอสี จึงนิยามคำจำกัดความเพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางการศึกษามาขึ้น เป็น ‘โรงเรียนวิถีพุทธปัญญา’ ซึ่งหมายถึงการนำพุทธศาสนามาใช้นอกเหนือจากแค่การสวดมนต์ หรือปฏิบัติธรรม แต่เป็นการหยิบหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามาปรับให้เข้ากับทุกๆ กิจกรรมที่โรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่มีปัญญาอย่างแท้จริง จนถึงวันนี้ โรงเรียนทอสีจึงเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนวิถีพุทธปัญญาซึ่งเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจของผู้ปกครอง และโรงเรียนยังได้สร้างเด็กๆ ผู้มีคุณภาพ มีความรู้ทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีวิตออกสู่สังคมมาแล้วรุ่นสู่รุ่น